31 มีนาคม 2563 วีซ่าและใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคนจะหมดอายุลงพร้อมกัน ครม.จึงมีมติอนุมัติให้แรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง โดยผู้ประกอบการและลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาลเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตามและปล่อยให้ใบอนุญาตหมดอายุลง จะถือว่าเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องได้รับโทษ การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit ในครั้งนี้ ถือเป็นการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเอ็มโอยู (MOU) แบบพิเศษ คือแรงงานไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อขอต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งกลุ่มแรงงานที่จะต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในครั้งนี้ ได้แก่ แรงงานกลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู ที่บัตรกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 มีนาคม 63 เท่านั้น (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าแบบ MOU) โดยแรงงานจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี และประทับตราขออยู่ต่อ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี หรือบัตรใหม่จะมีอายุใช้ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 65 นั่นเอง
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ต่ออายุใบอนุญาต เมื่อใบอนุญาตหมดอายุลง แรงงานจะต้องเดินทางกลับประเทศของตน และหากต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง จะต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยระบบ MOU เท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายและได้รับโทษ
ขั้นตอนการดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ในการดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ทางรัฐบาลได้เปิดศูนย์ให้มีการต่ออายุเอกสาร โดยนายจ้างและลูกจ้างจะต้องดำเนินการ 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ยื่นคำขอเพื่อต่อใบอนุญาต นายจ้างหรือบริษัทตัวแทน จะต้องยื่นคำขอบัญชีรายชื่อความต้องการแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือในเขตพื้นที่นั้น ๆ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จึงจะออกหนังสือรับรองให้ 2. ตรวจสุขภาพ นายจ้างจะต้องยื่นรายชื่อแรงงานของตนให้แก่สถานพยาบาล เพื่อนัดตรวจสุขภาพและรับใบรับรองแพทย์ตามประเภทของกิจการ เพราะตามกฎหมายระบุว่าแรงงานต่างด้าวจะต้องเข้าระบบประกันสังคมทุกคน (ยกเว้นแรงงานต่างด้าวบางประเภท) ในกรณีที่แรงงานไม่เคยเข้าประกันสังคมมาก่อน แรงงานจะต้องเสียค่าประกันสุขภาพ 3 เดือน ส่วนแรงงานทั่วไปที่เคยเข้าประกันสังคมแล้ว ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และหากเป็นกิจการที่แรงงานไม่ต้องเข้าประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด ให้แรงงานตรวจสุขภาพ พร้อมทำประกันสุขภาพ 2 ปี 3. ยื่นคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในประเทศไทย นายจ้างหรือบริษัทตัวแทน ต้องพาแรงงานต่างด้าวไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อยื่นคำขออนุญาตอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว โดยต้องประทับตราอนุญาตให้อยู่ในประเทศ เพื่อขออยู่ต่อได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี 4. ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน นายจ้างหรือบริษัทตัวแทน ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด พร้อมชำระค่าธรรมเนียม อนุญาตให้ทำงานต่อได้ 2 ปี ในขั้นตอนนี้ หากนายจ้างยื่นเอกสารด้วยตัวเอง จะต้องชำระค่าประกันเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท แต่ถ้าหากยื่นผ่านบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จะไม่ต้องเสียค่าประกัน 5. รับบัตร แรงงานจะต้องนำหลักฐานไปยื่นที่สำนักงานเขต กทม. หรือสำนักทะเบียนจังหวัด และขอรับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย โดยด้านหลังของบัตรจะเป็นใบอนุญาตทำงาน จะเกิดอะไรขึ้น หากลูกจ้างไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน นายจ้างที่ไม่ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ลูกจ้างอาจต้องคิดใหม่ เพราะลูกจ้างของคุณจะกลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานในประเทศไทย หากถูกจับได้ จะไม่ใช่แค่ลูกจ้างเท่านั้นที่ได้รับโทษ นายจ้างเองก็ได้รับโทษเช่นกัน โดยกฎหมายได้กำหนดโทษไว้ดังนี้ 1. มาตรา 101 ระบุว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แรงงานต่างด้าวจะต้องได้รับโทษปรับเป็นเงิน 5,000 ถึง 50,000 บาท และจะต้องถูกส่งให้กลับประเทศตนเองทันที 2. มาตรา 102 ระบุว่า ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือแรงงานที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้ จะต้องได้รับโทษปรับเป็นเงิน 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน และถ้าหากพบว่ามีการกระทำผิดอีกเป็นครั้งที่สอง นายจ้างจะโดนโทษปรับเพิ่มเป็นเงิน 50,000 ถึง 200,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน อาจโดนโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนำเข้าแรงงานต่างด้าวต่อไปอีก 3 ปี
ปรึกษาเรื่องเอกสารแรงงานต่างด้าว คลิ้กที่นี่
ติดต่อ แผนกเอกสารแรงงานต่างด้าว